บทที่ 2 เหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สนธิสัญญาเบาริ่ง




สนธิสัญญาเบาว์ริง
การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ เมื่อพ.ศ.2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญต่อไทย คือ เป็นการเปิดกว้างประเทศไทย ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยเริ่มการปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสากล สนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่ทำให้ไทยถูกจำกัดในเรื่องสิทธิการเก็บภาษีขาเข้า เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเรื่องคนในบังคับต่างชาติ   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องยินยอมตามข้อเรียกร้องของชาติตะวันตก จึงทรงติดต่อกับเซอร์ จอห์น เบาว์ริง(Sir John Bowring) ข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะฮ่องกง ผู้ซึ่งจะเป็นราชทูตมาเจรจาไขสนธิสัญญากับไทยว่ายินดีที่จะแก้ไขสนธิสัญญา แต่ขอเวลาให้งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นก่อน  และขอทราบความต้องการของอังกฤษในการแก้ไขสนธิสัญญา เพื่อไทยจะได้ปรึกษาเป็นการภายในก่อน การแก้ไขสนธิสัญญาก็จะทำได้เร็วขึ้น เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยในปลายเดือนมีนาคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงธิราชสนิทเป็นประธาน ทำกันที่พระราชวังเดิม คือ พระราชวังเก่าของพระเจ้าตากสินมหราราช การเจรจาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีการลงนามในสนธิสัญญาในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2398


 สาระสำคัญของสนธิสัญญา 

                1.คนในบังคับอังกฤษที่อยู่ ณ กรุงเทพฯหรือในสยามจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุม ของกงสุลอังกฤษโดยทางสยามจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวทำได้เพียงช่วยเหลือจับกุมให้อังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว
                2.คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรี ในเมืองท่าทุกแห่งของสยามและสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้  โดยสยามไม่ห้ามปรามและสามารถจ้างลูกจ้าง มาช่วยสร้างบ้านเรือนได้โดยไทยไม่ห้ามปราม คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าได้ (อาณาเขตสี่ไมล์สองร้อยเส้นไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร) คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล
                3.ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ3ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน(จังกอบภาษีป่าภาษีปากเรือ)หรือภาษีส่งออก
                4.พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยาม โดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวางหรือเบียดเบียน
                5.รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ ในการห้ามส่งออกข้าวเกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ
                6.คนในบังคับของอังกฤษจะมาค้าขายตามหัวเมืองชายฝั่งทะเลของสยามได้ แต่จะต้องอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯแลจังหวัดที่ระบุไว้ในสัญญา
                7.ถ้าฝ่ายไทยยอมให้สิ่งใดๆแก่ชาติอื่นๆ นอกจากหนังสือสัญญานี้ก็จะต้องยอมให้อังกฤษแลคนในบังคับอังกฤษเหมือนกัน



                          อ้างอิง https://9dbb754b-a-62cb3a1a-s-sites.googlegroups.com/


สนธิสัญญาเบาว์ริง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้


1.  เป็นการเริ่มต้นการค้าเสรีในประเทศไทย ซึ่งทำให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก จนทำให้ผู้คนภายในประเทศมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม
2.  ข้าวกลายเป็นสินค้าสำคัญของไทย จนกระทั่งปัจจุบัน
3.  ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมไทยมีการปรับตัวให้เหมาะสมมีการรับวัฒนธรรมและวิทยาการของชาติตะวันตกเข้ามามากขึ้น

 ผลเสียของสนธิสัญญาเบาว์ริงก็มีเหมือนกัน ดังนี้

1. ไทยถูกจำกัดการเก็บภาษีขาเข้าที่อัตราร้อยละ 3
2. เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและคนในบังคับ ทำให้ประเทศตะวันตกชักชวนคนชาติเอเชียไปจดทะเบียนเป็นคนในบังคับ กฎหมายไทยจึงไม่สามารถควบคุมคนเหล่านั้นได้
 ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้ทรงพยายามเจรจากับชาติตะวันตกเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาและประสบผลสำเร็จในบางส่วน พระมหากษัตริย์ในสมัยต่อมาทรงพยายามดำเนินงานต่อ จนประสบผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2481 ทำให้ไทยสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตรวมทั้งปัญหาคนในบังคับจึงสิ้นสุดลง











ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.6

สารบัญ วิชาประวัติศาสตร์ ป.5 ครูสุทธิดา แสงทัศน์