บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.6



        บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.6


      การประสูติ

          พระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา) กับพระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา) ได้เสวยราชสมบัติครองกรุงกบิลพัสดุ์อย่างสันติสุข ในเวลาต่อมาพระนางสิริมหามายาก็ทรงพระครรภ์ เมื่อจวนจะประสูติ พระนางได้ทูลขอพระสวามีเสด็จไปประสูติพระราชบุตรที่บ้านเดิมตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่กรุงเทวทหะ
          แต่ในขณะเดินทางพระนางเกิดประชวรพระครรภ์ เจ้าชายสิทธัตถะจึงประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๖ 

   

          ชีวิตในวัยเยาว์

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบความสุขสำราญ รับสั่งให้ขุดสระ ๓ สระและทรงมอบพระโอรสเข้าศึกษาที่สำนักของครูวิศวามิตร แม้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ก็ทรงรู้จักวางตนเคารพบูชาต่อครูอาจารย์




            อภิเษกสมรส

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาได้จัดอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพระนางพิมพาและสร้างปราสาท ๓ ฤดู เพื่อให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงพระเกษมสำราญกับความสุขทาง
โลก




         มูลเหตุที่ออกบวช

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสวยความสุขสำราญในโลกิยสุขเป็นเวลา ๒๙ พรรษา วันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จประพาสอุทยาน ได้เห็นเทวทูต ๔ คือ “คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ เป็นความทุกข์  เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ควรเป็นนักบวชที่มีความสงบ”  ในวันเดียวกันพระองค์ก็ทรงทราบข่าวการประสูติพระโอรส พระนามว่า “ราหุล” พระองค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า “บ่วงเกิดแล้ว



            แสวงหาโมกขธรรม

          เมื่อบวชแล้ว เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อศึกษาในสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ครั้งแรก ศึกษาในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส จนหมดความรู้ของครู อาจารย์ ทรงพิจารณาเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงเสด็จต่อไปอีก จนถึงสถานที่แห่งหนึ่งในเขตอุรุเวลาเสนานิคม



           การตรัสรู้

          ในขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น ได้มีปัญจวัคคีย์ คือ โกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ
มหานามะ อัสสชิ มาปรนนิบัติอยู่ตลอดเวลาเพื่อหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วจะได้แสดงธรรมแก่พวกตนบ้าง และเมื่อพระองค์ทรงละความพยายามในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงได้พากันหลีกหนีไป
          เมื่อปัญจวัคคีย์พากันหนีไปแล้วพระองค์จึงได้บำเพ็ญเพียรทางจิตตลอดมาจนถึงวันเพ็ญ เดือน ๖ พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อเสวยแล้วจึงได้ลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชรา
          แล้วทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์จะได้ตรัสรู้ขอถาดทองคำนั้นจงลอยทวนกระแสน้ำซึ่งถาดนั้นก็ได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจริง ๆ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนิมิตนั้นแล้วจึงประทับ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งปณิธานว่า “แม้เนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งไป ถ้าไม่บรรลุธรรม จะไม่ลุกจากอาสนะนี้
          ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ พระองค์ได้เจริญภาวนา ทำให้จิตเป็นสมาธิจนได้บรรลุฌาน ๓ ประการตามระยะเวลาในค่ำคืนนั้น โดย
          ยามที่ ๑ พระองค์สามารถระลึกชาติได้
          ยามที่ ๒พระองค์สามารถมองเห็นการจุติและการเกิดของมวลสัตว์โลกทั้งปวง
          ยามที่ ๓ พระองค์ได้บรรลุอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค




              ประกาศศาสนา

          เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ด้วยพระธรรมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักปปวัตนสูตร” จนปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ต่อจากนั้นมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ ถวายตัวเป็นศิษย์ บรรลุพระอรหันต์เป็นอันมากท่านเหล่านั้นจึงเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา



            เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

          พระพุทธเจ้าทรงได้รับเชิญจากพระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา) ให้เสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึงบรรดาพระประยูรญาติ ซึ่งมานั่งต้อนรับต่างนึกกระดากใจในการที่น้อมถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอายุน้อยกว่าตน จึงจัดให้พระประยูรญาติผู้น้อย และผู้คราวบุตรหลานออกไปนั่งข้างหน้า เพื่อถวายอภิวาทแก่พระพุทธเจ้า ส่วนพวกตนพากันถอยออกมานั่งอยู่ข้าง ไม่ถวายอภิวาท
          พระพุทธเจ้าทรงเห็นดังนั้นจึงทรงเหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทไม่หล่นตรงศีรษะของพระประยูรญาติ เพื่อลดทิฐิมานะคลายความถือตัวลงบ้าง
          เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเห็นดังนั้นจึงเกิดความอัศจรรย์ในพระหฤทัย ประนมหัตถ์ถวายบังคมพระพุทธเจ้า พร้อมเหล่าพระประยูรญาติด้วยความเคารพ
          กล่าวกันว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาประทับนั่งแล้วท้องฟ้ามืดครึ้ม และสายฝนสีแดง เรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ” ตกลงมาในท่ามกลางที่ประชุมของพระประยูรญาติ สายฝนซึ่งตกลงมานั้นถ้าใครต้องการให้เปียกจึงเปียก หากไม่ต้องการแม้เพียงเม็ดเดียวก็มิได้เปียกตัว แล้วตรัสเทศนาเวสสันดรชาดก เมื่อจบลงแล้วเหล่าพระประยูรญาติถวายส่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ





           พุทธกิจสำคัญอื่น ๆ

          สมัยหนึ่ง บุตรเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีผู้หนึ่งชื่อว่า “ยสะ” มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างผาสุกทางโลก อยู่ต่อมาในค่ำคืนหนึ่ง ยสกุลบุตร นอนหลับไปก่อน ฝ่ายนางบำเรอและบริวารต่างหลับภายหลัง ค่ำคืนนั้นขณะดึกสงัด แสงเทียนยังคงสว่างอยู่
          ยสกุลบุตรตื่นขึ้นมาพบภาพเหล่าบริวารนอนหลับเกลื่อนกลาด บ้างก็นอนกรนบ้างก็นอนละเมอพึมพำ แสดงอาการน่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก ดุจซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน จึงเปล่งอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” จนยสกุลบุตรทนอยู่ที่นั้นไม่ได้ เดินออกจากห้องไปตามเส้นทางหนึ่ง ผ่านเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวันด้วยจิตใจอันร้อนรุ่ม
          ขณะใกล้รุ่งสาง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั้น ทรงได้ยินเสียงบ่นของยสกุลบุตร จึงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน
          ยสกุลบุตรได้ยินเสียงนั้นจึงดีใจ ถอกรองเท้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ด้วยความสบายใจ ปราศจากความฟุ้งซ่านต่าง ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนฟอกจิตของยสกุลบุตรให้ห่างจากความยินดีในกามอารมณ์ จนสามารถแสดงธรรมที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔” เพื่อบรรลุมรรคผลนั่นเอง




            การปลงอายุสังขาร 

       สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขึ้นในวันมาฆบูชา ณ กูฏคารศาลา ป่ามหาวัน เมื่อมีพระชมมายุได้ 80 พรรษา ซึ่ง ณ เวลานั้น ทรงได้ตรัสรู้แล้วเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนมานานถึง 45 ปีแล้ว ก็ได้ทรงตั้งพระทัยว่า "นับแต่นี้ต่อไปอีกสามเดือน ตถาคตจักดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขารจึงมีความหมายในภาษาสามัญว่า การกำหนดวันตายไว้ล่วงหน้านั่นเอง        
          พรรษาที่ 45 เป็นพรรษาสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการประกาศธรรม พรรษานี้ พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุคาม เขตไพศาลี เมืองหลวงของรัฐวัชชี ภายในพรรษา พระองค์ประชวรอย่างหนักจนเกือบเสด็จปรินิพพาน
          เนื่องจากตลอดเวลา 44 ปีที่ผ่านมานั้น พระองค์มิได้ทรงนิ่งเฉย ทรงเสด็จดำเนินจาริกไปในรัฐต่าง ๆเพื่อทรงเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งหนทางไปมาของแต่ละรัฐนั้นก็ล้วนแต่ทุรกันดาร จนเป็นเหตุให้พระวรกายของพระองค์บอบช้ำมาก อีกทั้งบัดนี้พระชนมายุของพระองค์ก็ย่างเข้าสู่ 80 ซึ่งนับได้ว่าได้ทรงชราภาพมากแล้ว แต่กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงดำรงอยู่ได้ด้วยอธิวาสนขันติจนพระวรกายกลับเป็นปกติดังเดิมวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ซึ่งปูลาดไว้ ณ ร่มเงาแห่งพระวิหาร พระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากได้เข้ามาเฝ้า ถวายนมัสการ แล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้เห็นความผาสุกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ความอดกลั้นทนทานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ก็ได้เห็นแล้ว คราเมื่อได้เห็นพระองค์ทรงพระประชวร ข้าพระองค์ก็พลอยรู้สึกปวดทรมานเช่นพระองค์ แม้ทิศาสนนุทิศทั้งหลายก็ดูมืดมนไป แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่สว่างแก่ดวงจิต เพราะมาวิตกถึงความที่พระองค์ประชวรนั้นแต่ก็ยังอุ่นใจอยู่หน่อยหนึ่งว่าอย่างไรเสีย เมื่อพระองค์ยังมิได้ทรงปรารภถึงภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสคำอันใดอันหนึ่งก็คงจะยังไม่เสด็จปรินิพพานเป็นแน่
          พระองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังมาหวังอะไรในตถาคตอีกเล่า ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วทั้งปวงนั้น ตถาคตแสดงโดยเปิดเผย ไม่มีภายในภายนอก ไม่มีการปกปิดซ่อนเร้นเงื่อนงำที่สำคัญในธรรมใด ๆ เลย แม้ข้อซึ่งลี้ลับปกปิดซ่อนบังไว้โดยเพื่อจะแสดงแก่พระสาวกบางรูป บางเหล่า ไม่ทั่วไปก็ดีหรือจะเก็บไว้เพื่อแสดงต่ออวสานกาลที่สุดก็ดี ข้อนี้หามีแก่ตถาคตไม่ อานนท์ บัดนี้ตถาคตแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยเสียแล้ว อายุแห่งตถาคตถึง 80 แล้ว กายแห่งตถาคตย่อมเป็นประหนึ่งเกวียนเก่า คร่ำคร่า อาศัยไม้ไผ่ผูกกระหนาบคาบค้ำ อานนท์ เธอจงมีตนเป็นธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด
          พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุคามนั้น จนล่วงมาถึงวันเพ็ญเดือน 3 ในเวลาปัจฉาภัตต์ของวันนี้พระองค์เสด็จไปประทับที่ปาวาลเจดีย์รัฐวัชชีเพื่อทรงสำราญ อยู่ กลางวัน โดยมีพระอานนท์ติดตามไปด้วย ณ ที่นี้  พระองค์ได้ทรงทำนิมิตโอภาส คือตรัสข้อความเป็นเชิงเปิดโอกาสให้พระอานนท์ทูลอาราธนาเพื่อดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ว่า
           “ดูก่อนอานนท์ หากบุคคลผู้ซึ่งได้เจริญอิทธิบาททั้ง 4 ประการ ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ไปจนตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่าก็สามารถอยู่ได้ตามที่ปรารถนาไว้ อานนท์ตถาคตแลได้เจริญอิทธิบาททั้ง 4 ประการแล้ว ดังนั้นหากตถาคตปรารถนาก็สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือมากกว่าได้” แต่พระอานนท์ก็ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงหมายถึงอะไร เพราะในขณะนั้นท่านได้ถูกมารเข้ามาดลใจไว้ ดังนั้น ท่านจึงมิได้กราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป เพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าเทพยดาและมวลมนุษย์ทั้งหลายซึ่งแม้พระองค์จะทรงทำนิมิตโอภาสเช่นนั้นซ้ำอีกตั้ง 2 ครั้งก็ตาม
          ครั้งนั้น พระองค์จึงตรัสกับท่านว่า “อานนท์ เธอจงไปนั่งยังวิเวกสถานเจริญฌานสมาบัติโดยควรเถิด” เมื่ออานนท์ออกไปแล้ว มารก็เข้ามาทูลให้พระองค์เสด็จปรินิพพาน พระองค์ทรงรับ และทรงกำหนดพระทัยจักปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเรียกว่า ทรงปลงอายุสังขาร
          ทันใดนั้น ก็บังเกิดความมหัศจรรย์บันดาลพื้นแผ่นพสุธาธานโลกธาตุกัมปนาทหวั่นไหว ประหนึ่งว่าแสดงความทุกข์ใจ อาลัยในพระพุทธเจ้าซึ่งจักเสด็จปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้
          พระอานนท์ได้เห็นดังนั้น จึงกลับเข้ามาเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามถึงเหตุที่อัศจรรย์แผ่นดิน ไหวนั้น พระองค์ตรัสตอบว่า “อานนท์ เหตุ 8 ประการนี้แล แต่ละอย่างทำให้เกิดแผ่นดินไหว คือ
          1. ลมกำเริบ
          2. ผู้มีฤทธิ์บันดาล
          3. พระโพธิสัตว์จุติจากสัคคดุสิตลงสู่พระครรภ์
          4. พระโพธิสัตว์ประสูติ
          5. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้
          6. พระตถาคตเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร
          7. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร
          8. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
          เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้น ก็ทราบได้ทันทีว่าที่แผ่นดินไหวครั้งนี้นั้นก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ท่านจึงกราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่สั่งสอนเวไนยนิกรต่อไปตลอดกัปถึง 3 ครั้ง แต่พระองค์ก็ตรัสห้ามเสียเพราะในบัดนี้ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้วที่จะมาทูลอาราธนาพระองค์ เหตุเพราะพระองค์ได้ตรัสคำขาดไว้แล้ว และจะทรงกลับคำเสียเพราะเหตุแห่งชีวิตย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
          ครั้นแล้วได้ตรัสบอกพระอานนท์ว่าแม้ในวันก่อน ๆ พระองค์ก็ทรงได้ทำนิมิตโอภาสอย่างนี้แล้วเหมือนกัน แต่อานนท์ก็ไม่รู้เท่าทันพระองค์จึงมิได้ทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นความผิดของอานนท์แต่เพียงผู้เดียว




             ปัจฉิมสาวก

          ปริพาชกชาวเมืองกุสินาราผู้หนึ่ง นามว่า “สุภัททะ” ได้ยินข่าวพระพุทธเจ้าปรินิพพานในยามสุดท้ายของราตรีวันนี้ที่ป่าไม้สาละ จึงรีบมาเฝ้าพระองค์ เพื่อกราบทูลถามปัญหาที่ตัวเองยังข้องใจสงสัยอยู่ ขณะที่เข้ามาถึงเวลาได้ล่วงเข้ามาเป็นมัชฌิมยามแล้ว และเมื่อจะเข้าเฝ้าก็ได้ถูกพระอานนท์ขัดขวางไว้ เพราะจะเป็นการรบกวนพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นทรงประชวรหนักมากแล้ว แต่สุภัททะก็พยายามที่จะเข้าไปให้ได้ พระอานนท์ก็ขัดขวางอยู่อย่างนั้น
          เสียงพูดโต้ตอบกันระหว่างสุภัททะกับพระอานนท์ได้ดังเข้าไปถึงพระแท่นที่บรรทมของพระพุทธเจ้าซึ่งทรงประชวรหนัก แต่ก็ยังพอมีสติสัมปชัญญะอยู่ ดังนั้นพระองค์จึงตรัสให้พระอานนท์อนุญาตให้สุภัททะเข้าเฝ้าตามประสงค์ พระอานนท์จึงกระทำตามพระดำรัสนั้น
          เมื่อสุภัททะเข้าเฝ้าแล้ว พระองค์ทรงตอบปัญหาสุภัททะและทรงแสดงธรรมแก่สุภัททะจนเกิดความเลื่อมใส สุภัททะจึงประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แล้วทูลขออุปสมบท
          พระพุทธเจ้าสั่งให้พระอานนท์พาสุภัททะเข้าไปบรรพชา พระอานนท์กระทำตามพระดำรัส แล้วก็พาสุภัททะเข้าไปหาพระพุทธเจ้าเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ  พระสุภัททะเมื่ออุปสมบทแล้ว ได้รีบเร่งบำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหันต์ เป็นปัจฉิมสาวก คือสาวกองค์สุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



          เสด็จดับขันธปรินิพพาน

          เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศศาสนามาถึง ๔๕ พรรษา ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ ๘๐พรรษา   จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช 1  ปี             
     เมื่อเวลาปรินพพานของพระองค์ใกล้เข้ามา พระอานนท์ได้หลีกออกมายืนเหนี่ยวกลอนประตูพระวิหาร (สลักเพชร) ร้องไห้รำพันด้วยความน้อยใจในวาสนาอาภัพของตนเอง ซึ่งแม้จะติดตามอยู่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเหมือนเงาตามตัว แล้วก็ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์เสียที กระทั่งบัดนี้ พระองค์จะเสด็จปรินิพพานแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม และเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วตนเองจะอยู่กับใคร
          ขณะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งทรงบรรทมอยู่ได้รับสั่งเรียกพระอานนท์มาเฝ้า ครั้นทรงทราบว่าทานเองไปยืนร้องไห้อยู่ที่ประตูพระวิหารจึงรับสั่งให้นำท่านเข้ามา แล้วตรัสประทานโอวาทว่า “อานนท์ อย่าเลย เธออย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย เราได้เคยบอกไว้แล้วมิใช่หรือว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงจะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องแปรปรวนและแตกดับทำลายสลายสิ้น เช่นเดียวกันทั้งนั้น อานนท์เธอเป็นคนมีบุญอันได้สั่งสมไว้แล้ว เธอจงหมั่นปฏิบัติบำเพ็ญเพียรเถิด ไม่ช้าแล้วเธอก็จักถึงซึ่งความดับสิ้นไปแห่งอาสวะแล้วได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่าเป็นยอดพุทธอุปัฏฐาก เป็นพหูสูต มีสติรอบคอบมีฐิติคือความเพียรและมีปัญญารู้จักกาลเทศะ
พระอานนท์กราบทูลให้เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองอื่น
          ลำดับนั้น พระอานนท์จึงทูลให้พระองค์เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองอื่นอย่างเช่นเมืองราชคฤห์ เพราะเป็นเมืองใหญ่ทั้งยังดูสมเกียรติอีกด้วยไม่ควรเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก ๆ อย่างกุสินารานี้ พระองค์ทรงห้ามเสียแล้วตรัสว่า “อานนท์เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย ในอดีต เมืองกุสินารานี้ จอมจักรพรรดิราชผู้ทรงพระนามว่ามหาสุทัศน์เป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง มีชื่อว่า กุสาวดีราชธานี เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากประชาชนสงบสุข สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สรรพสิ่งเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิตของมนุษย์ทุกประการ เสียงผู้คนร้องเรียกค้าขายสัญจรไปมากันทั้งกลางวันและกลางคืน
          ครั้นพระองค์ทรงแสดงว่ากุสินาราเป็นเมืองใหญ่เช่นนั้นแล้ว จึงมีพุทธบัญชาให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานของพระองค์แก่พวกมัลลกษัตริย์ว่าจะมีในยามสุดแห่งราตรีวันนี้ เพื่อมิให้พวกเขาเดือดร้อนเสียใจ ในภายหลังว่า ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในอาณาเขตของพวกเรา แต่ทว่ากลับมิได้รู้มิได้เห็นพระองค์ในวาระสุดท้าย พระอานนท์ก็กระทำตามพุทธบัญชา
          ครั้นมัลลกษัตริย์ทั้งทรงทราบข่าวแล้ว ก็โศกเศร้ารำพึงรำพันกันไปต่าง ๆ แล้วพร้อมกันมาเฝ้าพระองค์ที่สาลวโนทยาน พระอานนท์ก็จัดให้เข้าเฝ้าเป็นสกุล เป็นคณะไปตามลำดับ เสร็จภายในปฐมยามเบื้องต้นแห่งราตรีนั้น        นี่เป็นข้อหนึ่งซึ่งแสดงถึงความฉลาดรู้จักกาลเทศะของพระอานนท์สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญเอาไว้ เพราะมัลลกษัตริย์มีมากองค์ด้วยกันหากจัดให้เรียงองค์เข้าเฝ้ากันแล้วราตรีจะสว่างเปล่าทั้งไม่เสร็จสิ้น
วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ
          ลำดับนั้น พระอานนท์จึงทูลถามต่อไปว่าจะพึงปฏิบัติอย่างไรในพระพุทธสรีระพระองค์ตรัสว่า “อานนท์เธอทั้งหลายอย่าขวนขวายเลย จงตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรมุ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์เถิด บรรดากษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีทั้งหลายที่เลื่อมใสในตถาคตมีอยู่ จึงปฏิบัติในสรีระแห่งตถาคตจักเป็นหน้าที่ของพวกเขา” แต่ด้วยความเป็นผู้รอบคอบอานนท์จึงทูลถามอีกว่า
          “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น จะพึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระโดยวิธีเช่นใด
          “อานนท์ ชนทั้งหลายย่อมปฏิบัติในพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิเช่นใด แม้ในสรีระแห่งตถาคตก็เช่นนั้น” ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ชนทั้งหลายย่อมปฏิบัติกันอย่างไรในพระสรีระแห่งจักรพรรดิราช” “อานนท์ ชนทั้งหลายห่อซึ่งสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่โดยอุบายนี้ ห่อด้วยผ้า 500 คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงหีบทองซึ่งใส่น้ำมันหอม ถวายพระเพลิงแล้วอัญเชิญพระอัฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุไว้ ณ ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง 4 เพื่อนำไปสักการะกราบไหว้บูชาและเป็นอนุสรณ์เตือนใจของผู้คนที่สัญจรไปมาทั่วไป
          จากนั้น พระองค์ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ว่า “ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดที่เราบัญญัติไว้แล้ว ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย โดยกาลเป็นที่สิ้นไปแห่งเรา และตรัสว่า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ถอนได้ และรับสั่งให้ลงพรหมทัณฑ์(อาชญาของพรหม) แก่พระฉันทะแล้วทรงตรัสสอนภิกษุสงฆ์ด้วยธรรมอันเป็นปัจฉิมโอวาทว่า อุปปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลความว่า ท่านทั้งหลายจงให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” 
          ต่อจากนั้นก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงเข้าฌานที่ 1 ถึง 8 แล้วเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ในตอนนี้พระอานนท์ถามพระอนุรุทธะว่า “พระบรมศาสดาปรินิพพานแล้วหรือพระอนุรุทธะตอบว่ายังก่อน กำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ พระศาสดาทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว เข้าฌานที่ 8 ย้อนมาหาฌานที่ 1 แล้วเข้าฌานที่ 2-3-4 ออกจากฌานที่ 4 แล้วปรินิพพาน ในเวลาอันใกล้รุ่งของวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ เดือน6
          เมื่อปรินิพพานแล้ว เวลายังไม่สว่าง พระอนุรุทธะกับพระอานนท์เถระไปแจ้งข่าวปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์ทราบ ก็ทรงกำสรดโสกาอาดูรต่าง ๆนานา ทรงประกาศให้ประชาชนทราบไปทั่วพระนคร แล้วนำดอกไม้ของหอม ดนตรีผ้าขาว 500 พับ เสด็จไปยังสาลวโนทยานทำการนมัสการบูชาพระพุทธสรีระอย่างมโหฬาร ตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน





        ถวายพระเพลิง

          ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 7 มัลลกษัตริย์ ได้อัญเชิญพระพุทธสรีระเข้าไปยังพระนครโดยประตูด้านทิศอุดรแห่งให้ประชาชนถวายสักการะบูชาทั่วพระนครแล้ว อัญเชิญออกจากพระนครทางประตูด้านทิศบูรพาไปประดิษฐานที่มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ทำราชาภิเษก ซึ่งอยู่ ณ ทิศบูรพาแห่งพระนครกุสินารา เพื่อจะถวายพระเพลิง
          พวกมัลลกษัตริย์ตรัสถามท่านพระอานนท์เถระว่า จะปฏิบัติเช่นไรต่อพระพุทธสรีระ พระเถระบอกให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิ พวกมัลลกษัตริย์ทรงปฏิบัติตามพุทธประสงค์ โดยใช้คู่ผ้าขาวใหม่ห่อพระสรีระแล้วซับด้วยสำลีแล้วห่อด้วยผ้าขาวใหม่แล้วซับด้วยสำลี โดย นัยนี้จนครบ 500 ชั้น แล้วอัญเชิญลงในหีบเหล็กที่มีน้ำมันเติมปิดฝาประดิษฐานบนจิตกาธาน เชิงตะกอนที่ทำด้วยไม้หอมล้วน ๆ แล้วมัลลาปาโมกข์ 4 องค์นำเพลิงเข้าไปจุดเชิงตะกอนทั้ง 4 ทิศ ก็ไม่สามารถจะจุดเพลิงให้ติดได้ มีพระหฤทัยสงสัยจึงตรัสถามท่านพระอนุรุทธะเถระเจ้า พระเถระจึงบอกให้คอยท่านพระมหากัสสปะก่อน
          ขณะนั้นท่านมหากัสสปะเถระกำลังเดินทางมาจากปาวานคร ยังมิทันถึงมกุฏพันธเจดีย์ พร้อมด้วยภิกษุประมาณ 500 องค์ แวะพักข้างทางที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง ได้เห็นอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณฑามาจึงได้เข้าไปถามถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า อาชีวกตอบว่าพระสมณโคดมปรินิพพานได้ 7 วัน พวกภิกษุที่เป็นปุถุชนบางพวกก็ยกมือขึ้นทั้ง 2 ประคอง แล้วร้องไห้ ปริเทวนาการระพันเกลือกกลิ้งไปมา ส่วนภิกษุที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ มีสติสัมปชัญญะอดกลั้นโดยธรรมสังเวช
          ในที่นั่นมีหลวงตารูปหนึ่งบวชเมื่อแก่ ชื่อ สุภัททะ ได้ติดตามพระเถระและภิกษุทั้งหลายมาด้วยได้ร้องห้ามขึ้นว่า หยุดร้องไห้เถิดท่านทั้งหลาย อย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เราทั้งหลายจำเป็นต้องทำตามจึงลำบากนัก บัดนี้เราจะทำสิ่งใดหรือไม่ทำสิ่งใดก็ตาม ตามความพอใจโดยมิต้องเกรงผู้ใด” ท่านมหากัสสปะเถระได้สดับแล้วเกิดความสังเวชสลดใจ
          ครั้นจะยกขึ้นเป็นอธิกรณ์ทำนิคหกรรมเล่าก็เห็นว่ายังไม่สมควร จึงปลอบโยนภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แล้วจึงนำภิกษุทั้งหลายไปสู่มกุฏพันธเจดีย์ เข้าไปใกล้เชิงตะกอนประนมอัญชลีขึ้นนมัสการกระทำประทักษิณสิ้น 3 รอบ แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลทั้งคู่ด้วยเศียรเกล้า เมื่อพระมหากัสสปะเถระและภิกษุ 500 องค์ ถวายบังคมแล้ว เตโชธาตุก็ได้โพลงขึ้นเองลุกโชติช่วงเผาพระพุทธสรีระพร้อมทั้งจิตกาธาน
          ส่วนที่เหลือจากพระเพลิงเผาไหม้คือ พระอัฐิ(กระดูก) พระเกศา (ผม) พระโลมา(ขน) พระนขา (เล็บ) พระทันต์ (ฟัน) ทั้งหมด และผ้าคู่ห่อพระสรีระคู่หนึ่งเป็นเครื่องห่อพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ มิได้ไหม้นอกนั้นเพลิงเผาพินาศหมดสิ้น
          เมื่อเสร็จจากการถวายพระเพลิง มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย นำสุคนธวารี คือน้ำหอมชนิดต่าง ๆ ดับจิตกาธารอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ สัณฐาคารศาลาภายในพระนคร ตั้งเหล่าทหารรักษารายล้อมภายในพระนครอย่างแข็งแรงมั่นคง ทำสักการบูชา และมีมหรสพฉลองพระบรมสารีริกธาตุอย่างมโหฬารตลอด 7 วัน 7 คืน
แจกพระบรมสารีริกธาตุ
บรรดากษัตริย์และผู้ครองนครทั้งหลาย 7 นคร คือ
          1. พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
          2. กษัตริย์ลิจฉวี แห่งเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
          3. ศากยกษัตริย์ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบท
            4. ถูลกษัตริย์ แห่งเมืองอัลลกัปปนคร
          5. โกลิยกษัตริย์ แห่งเมืองรามคาม แค้วนสักกชนบท
          6. มัลลกษัตริย์ แห่งเมืองปาวานคร แคว้นมัลละ
          7. มหาพราหมณ์ แห่งเมืองเวฏฐทีปกนคร
          ได้ทราบกิตติศัพท์ จึงได้ส่งทูตเชิญราชสาส์นพร้อมทั้งกองทัพมายังมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา เพื่อทูลขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ในพระสถูปเจดีย์เพื่อเป็นที่สักการบูชา ณ เมืองแห่งตน มัลลกษัตริย์ไม่ยอมให้จึงเกือบจะเกิดสงครามกันขึ้น
          ฝ่ายโทณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ มีปัญญาสามารถชาญฉลาด มีถ้อยคำเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไปสามารถจะห้ามการวิวาทให้สงบลงได้โดยธรรม เมื่อได้ฟังการปฏิเสธของมัลลกษัตริย์แล้วคิดว่า สงครามและการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเพราะการแย่งพระบรมสารีริกธาตุนั้นไม่เป็นการสมควรเลย ควรจะแบ่งให้เท่า ๆ กัน เพื่อจะได้นำไปสักการบูชายังเมืองของตน คิดดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวขึ้นว่า
           “ขอพระมหาราชเจ้าทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้าสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นสรณะที่พึ่งแห่งเราทั้งหลาย พระองค์เป็นขันติวาท กล่าวสรรเสริญความอดทนอดกลั้นต่อทุกข์และกำลังแห่งกิเลสการจะถือเอาพระบรมสารีริกธาตุเป็นเหตุแล้วทำการประหัตประหารต่อสู้กันด้วยศัสตราวุธ จนเป็นสงครามขึ้นมา ไม่ดีไม่งามเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอบรรดาเจ้านครทั้งหลายจงพร้อมใจกันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กันพระนครเถิด ขอพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจงแพร่หลายไปทั่วทุกทิศ จักให้สำเร็จประโยชน์ความสุขแก่นิรสัตว์สิ้นกาลนาน
          กษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้สดับก็ทรงเห็นชอบ และได้ให้โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่ง โทณพราหมณ์นั้นใช้ตุ่มพระทะนานทอง ตวงพระบรมสารีริกธาตุแบ่งออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน ถวายกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 8 พระนครเสร็จแล้วทูลขอตุ่มที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุอันควรแก่การบรรจุไว้ ณ เจดียสถานไปก่อสถูปบรรจุไว้
          ภายหลังโมริกษัตริย์ แห่งเมืองปิปผลิวัน ได้ทราบข่าวจึงได้ส่งทูตมาทูลขอ มัลลกษัตริย์ได้ตรัสว่าส่วนพระสรีระไม่มีเราได้แบ่งกันเป็นส่วน ๆ หมดไปแล้ว ท่านจงเชิญพระอังคารไปบรรจุพระสถูปทำการสักการบูชาเถิด ราชทูตจึงได้นำพระอังคารกลับไปบรรจุไว้ในพระสถูปเมืองปิปผลิวัน



         สังเวชนียสถาน

         วันหนึ่ง พระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ในกาลก่อน เมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศตาง ๆก็พากันเดินทางเข้ามาเฝ้าพระองค์ เมื่อไม่เห็นพระองค์จะปฏิบัติอย่างไร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อานนท์ สังเวชนียสถาน สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช 4 ตำบลนี้ คือ

          1. สถานที่ตถาคตประสูติ (ลุมพินีวัน)


        
     2. สถานที่ตถาคตตรัสรู้ (อุรุเวลาเสนานิคม)


      
        3. สถานที่ตถาคตแสดงธรรมจักร (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)


   
       4. สถานที่ตถาคตปรินิพพาน (สาลวโนทยาน)


          สถานที่ทั้ง 4 ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาปสาทะในตถาคตจะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน อานนท์ อนึ่ง ชนเหล่าใดเที่ยวไปสังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ชนเหล่านั้น ครั้นกาลล่วงลับไป ก็จักเข้าถึงซึ่งสุคติโลกสวรรค์










=== แบบฝึกหัด เรื่อง พุทธประวัติ ป.6 ===




กลับสู่หน้าสารบัญ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 2 เหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สนธิสัญญาเบาริ่ง

สารบัญ วิชาประวัติศาสตร์ ป.5 ครูสุทธิดา แสงทัศน์