บทที่ 1 ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ป.6


บทที่ 1 ความสำคัญของพระพุทธศาสนา

        ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ



                พระพุทธศาสนานั้นเราถือกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทย  การถืออย่างนี้เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาโดยถูกต้องตามสมควรแก่เหตุ คือการที่พระพุทธศาสนากับชนชาติไทยได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

          ในทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยเกี่ยวเนื่องมาด้วยกันกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน ชาวไทยก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกันมา จนกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา

   
          ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันประสานกลมกลืนกับหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอันยาวนาน จนทำให้เกิดการปรับตัวเข้าหากันและสนองความต้องการของกันและกันตลอดจนผสมคลุกเคล้ากับความเชื่อถือและข้อปฏิบัติสายอื่น ๆ ถึงขั้นที่ทำให้เกิดมีระบบความเชื่อ และความประพฤติปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เป็นแบบของไทยโดยเฉพาะ อันมีรูปลักษณะและและเนื้อหาของตนเองที่เน้นเด่นบางแง่บางด้านเป็นพิเศษ  คนไทยทั่วทั้งหมดแต่องค์พระเจ้าแผ่นดินลงมา  จนถึงผู้ชายชาวบ้านแทบทุกคน  ได้บวชเรียนและรับการศึกษาจากสถาบันพระพุทธศาสนา  ดังมีประเพณีบวชเรียนเป็นหลักฐานสืบมา  วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของสังคมไทยเป็นแหล่งคำสั่งสอน  การฝึกอบรมและอำนวยความรู้ทั้งโดยตรงแก่ผู้เข้าบวชเรียนอยู่ในวัด  และโดยอ้อมแก่ทุกคนในชุมชนที่อยู่แวดล้อมวัด  ชุมชนทุกแห่งแม้แต่หมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลต่างก็มีวัดตั้งอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน


          กิจกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของรัฐก็ดี ของชุมชนก็ดี จะมีส่วนประกอบด้านพระพุทธศาสนาเป็นพิธีการ เพื่อเน้นความสำคัญและเสริมคุณค่าทางจิตใจ  แม้แต่กิจกรรมเล็กน้อยจนถึงการประกอบกิจกรรมส่วนตัวของบุคคลในชีวิตประจำวัน เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า ออกเดินทางไปทำงานจนถึงเข้านอน ก็อาจเคร่งครัดถึงกับนำคำสอนและข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเข้าไปแทรกเป็นส่วนนำสำหรับเตือนสติ กระตุ้นเร้าในทางกุศลหรือเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังปรากฏต่อมาภายหลัง และบางทีเลือนรางเหลือเพียงเป็นการทำตาม ๆ กันมา เป็นเรื่องโชคลาง หรือสักแต่ว่าทำพอเป็นพิธี
          เหตุการณ์ทั้งหลายในช่วงเวลาและวัยต่าง ๆของชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน และการตาย ก็ทำให้มีความสำคัญและดีงามด้วยกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ชีวิตของคนไทยผูกพัน อิงอาศัยกับพระพุทธศาสนาตลอดจนเวลา ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย
          สภาพที่กล่าวมานี้ ได้เป็นมาช้านานจนฝังลึกลงในจิตใจและวิถีชีวิตของชาวไทย กลายเป็นเครื่องหล่อหลอมกลั่นกรองนิสัยใจคอของคนไทย ให้มีลักษณะเฉพาะตน ที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย และทำให้พูดด้วยความมั่นใจ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย


          “คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ” หลังจากได้ ความมั่นใจ ดุจเป็นพระราชวินิจฉัยจากพระราชดำรัสครั้งนี้แล้ว บุคคลวงการต่าง ๆ พากันมีความกล้าหาญที่จะพูด หรือเขียนให้ชัดแจ้งออกมาว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ









                 

   

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 2 เหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สนธิสัญญาเบาริ่ง

บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.6

สารบัญ วิชาประวัติศาสตร์ ป.5 ครูสุทธิดา แสงทัศน์