บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.5

 บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.5

 การประสูติ

          พระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา) กับพระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา) ได้เสวยราชสมบัติครองกรุงกบิลพัสดุ์อย่างสันติสุข ในเวลาต่อมาพระนางสิริมหามายาก็ทรงพระครรภ์ เมื่อจวนจะประสูติ พระนางได้ทูลขอพระสวามีเสด็จไปประสูติพระราชบุตรที่บ้านเดิมตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่กรุงเทวทหะ
          แต่ในขณะเดินทางพระนางเกิดประชวรพระครรภ์ เจ้าชายสิทธัตถะจึงประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๖ 

   

          ชีวิตในวัยเยาว์

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบความสุขสำราญ รับสั่งให้ขุดสระ ๓ สระและทรงมอบพระโอรสเข้าศึกษาที่สำนักของครูวิศวามิตร แม้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ก็ทรงรู้จักวางตนเคารพบูชาต่อครูอาจารย์



            อภิเษกสมรส

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาได้จัดอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพระนางพิมพาและสร้างปราสาท ๓ ฤดู เพื่อให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงพระเกษมสำราญกับความสุขทางโลก




         มูลเหตุที่ออกบวช

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสวยความสุขสำราญในโลกิยสุขเป็นเวลา ๒๙ พรรษา วันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จประพาสอุทยาน ได้เห็นเทวทูต ๔ คือ “คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ เป็นความทุกข์  เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ควรเป็นนักบวชที่มีความสงบ”  ในวันเดียวกันพระองค์ก็ทรงทราบข่าวการประสูติพระโอรส พระนามว่า “ราหุล” พระองค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า “บ่วงเกิดแล้ว



            แสวงหาโมกขธรรม

          เมื่อบวชแล้ว เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อศึกษาในสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ครั้งแรก ศึกษาในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส จนหมดความรู้ของครู อาจารย์ ทรงพิจารณาเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงเสด็จต่อไปอีก จนถึงสถานที่แห่งหนึ่งในเขตอุรุเวลาเสนานิคม



           การตรัสรู้

          ในขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น ได้มีปัญจวัคคีย์ คือ โกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ
มหานามะ อัสสชิ มาปรนนิบัติอยู่ตลอดเวลาเพื่อหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วจะได้แสดงธรรมแก่พวกตนบ้าง และเมื่อพระองค์ทรงละความพยายามในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงได้พากันหลีกหนีไป
          เมื่อปัญจวัคคีย์พากันหนีไปแล้วพระองค์จึงได้บำเพ็ญเพียรทางจิตตลอดมาจนถึงวันเพ็ญ เดือน ๖ พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อเสวยแล้วจึงได้ลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชรา
          แล้วทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์จะได้ตรัสรู้ขอถาดทองคำนั้นจงลอยทวนกระแสน้ำซึ่งถาดนั้นก็ได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจริง ๆ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนิมิตนั้นแล้วจึงประทับ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งปณิธานว่า “แม้เนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งไป ถ้าไม่บรรลุธรรม จะไม่ลุกจากอาสนะนี้
          ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ พระองค์ได้เจริญภาวนา ทำให้จิตเป็นสมาธิจนได้บรรลุฌาน ๓ ประการตามระยะเวลาในค่ำคืนนั้น โดย
          ยามที่ ๑ พระองค์สามารถระลึกชาติได้
          ยามที่ ๒พระองค์สามารถมองเห็นการจุติและการเกิดของมวลสัตว์โลกทั้งปวง
          ยามที่ ๓ พระองค์ได้บรรลุอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค




              ประกาศศาสนา

          เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ด้วยพระธรรมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักปปวัตนสูตร” จนปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ต่อจากนั้นมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ ถวายตัวเป็นศิษย์ บรรลุพระอรหันต์เป็นอันมากท่านเหล่านั้นจึงเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา



            เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

          พระพุทธเจ้าทรงได้รับเชิญจากพระเจ้าสุทโธทนะ (พุทธบิดา) ให้เสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึงบรรดาพระประยูรญาติ ซึ่งมานั่งต้อนรับต่างนึกกระดากใจในการที่น้อมถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอายุน้อยกว่าตน จึงจัดให้พระประยูรญาติผู้น้อย และผู้คราวบุตรหลานออกไปนั่งข้างหน้า เพื่อถวายอภิวาทแก่พระพุทธเจ้า ส่วนพวกตนพากันถอยออกมานั่งอยู่ข้าง ไม่ถวายอภิวาท
          พระพุทธเจ้าทรงเห็นดังนั้นจึงทรงเหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทไม่หล่นตรงศีรษะของพระประยูรญาติ เพื่อลดทิฐิมานะคลายความถือตัวลงบ้าง
          เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเห็นดังนั้นจึงเกิดความอัศจรรย์ในพระหฤทัย ประนมหัตถ์ถวายบังคมพระพุทธเจ้า พร้อมเหล่าพระประยูรญาติด้วยความเคารพ
          กล่าวกันว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาประทับนั่งแล้วท้องฟ้ามืดครึ้ม และสายฝนสีแดง เรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ” ตกลงมาในท่ามกลางที่ประชุมของพระประยูรญาติ สายฝนซึ่งตกลงมานั้นถ้าใครต้องการให้เปียกจึงเปียก หากไม่ต้องการแม้เพียงเม็ดเดียวก็มิได้เปียกตัว แล้วตรัสเทศนาเวสสันดรชาดก เมื่อจบลงแล้วเหล่าพระประยูรญาติถวายส่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ





           พุทธกิจสำคัญอื่น ๆ

          สมัยหนึ่ง บุตรเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีผู้หนึ่งชื่อว่า “ยสะ” มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างผาสุกทางโลก อยู่ต่อมาในค่ำคืนหนึ่ง ยสกุลบุตร นอนหลับไปก่อน ฝ่ายนางบำเรอและบริวารต่างหลับภายหลัง ค่ำคืนนั้นขณะดึกสงัด แสงเทียนยังคงสว่างอยู่
          ยสกุลบุตรตื่นขึ้นมาพบภาพเหล่าบริวารนอนหลับเกลื่อนกลาด บ้างก็นอนกรนบ้างก็นอนละเมอพึมพำ แสดงอาการน่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก ดุจซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน จึงเปล่งอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” จนยสกุลบุตรทนอยู่ที่นั้นไม่ได้ เดินออกจากห้องไปตามเส้นทางหนึ่ง ผ่านเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวันด้วยจิตใจอันร้อนรุ่ม
          ขณะใกล้รุ่งสาง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั้น ทรงได้ยินเสียงบ่นของยสกุลบุตร จึงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน
          ยสกุลบุตรได้ยินเสียงนั้นจึงดีใจ ถอกรองเท้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ด้วยความสบายใจ ปราศจากความฟุ้งซ่านต่าง ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนฟอกจิตของยสกุลบุตรให้ห่างจากความยินดีในกามอารมณ์ จนสามารถแสดงธรรมที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔” เพื่อบรรลุมรรคผลนั่นเอง



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทที่ 2 เหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สนธิสัญญาเบาริ่ง

บทที่ 2 พุทธประวัติ ป.6

สารบัญ วิชาประวัติศาสตร์ ป.5 ครูสุทธิดา แสงทัศน์